โรคต้อหิน ภัยมืดของการมองเห็น


            ต้อหินทำให้คนไทยตาบอดเป็นอันดับ 2 รองจากโรคต้อกระจก เป็นโรคอันตรายสำหรับดวงตาเพราะผู้ป่วยมักไม่มีอาการ ไม่มีสัญญาณบ่งบอก หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด
            ต้อหินเป็นโรคที่มีการทำลายเซลล์ประสาทตาในจอตาไปเรื่อยๆจนทำให้สูญเสียการมองเห็น และทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตาไปเป็นผลทำให้ลานสายตาผิดปกติ เซลล์ประสาทตาถูกทำลายส่วนใหญ่เกิดจากการมีความดันลูกตาสูงขึ้นและภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงที่ขั้วประสาทตา

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงโรคต้อหิน
1. ผู้ที่คนอายุ 40 ปีขึ้นไป มีความเสื่อมของช่องระบายน้ำออกจากลูกตา ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงในลูกตาไม่สามารถระบายออกได้เกิดการคั่งภายในทำให้ความดันตาสูงขึ้น
2. สายตาผิดปกติเช่น สายตายาวมากหรือสั้นมากๆ
3. มีบุคคลในครอบครัวเป็นต้อหิน เนื่องจากต้อหินสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้
4.มีประวัติความดันโลหิตสูง เนื่องจากผู้ป่วยต้องกินยาลดความดัน ทำให้เลือดที่ส่งไปเลี้ยงเส้นประสาทตาลดลง
5.มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ทำให้เส้นเลือดที่จอตาผิดปกติทีละน้อยๆ ทำให้จอตาบวม มีเลือดออกที่จอตา หรือวุ้นตา ส่งผลให้เกิดอาการตามัว จนกลายเป็นต้อหิน
6.ผู้ที่มีประวัติใช้ยาชนิดหยอดและยารับประทาน ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์ ทำให้ความดันตาสูงขึ้นได้ หากใช้ในคนที่ความดันตาสูงอยู่ก่อนอาจทำให้เกิดต้อหินได้

อาการของต้อหิน แบ่งเป็น 2 แบบ
1. ต้อหินเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มีอาการหลักๆ คือ

  • ปวดตา มักปวดศีรษะข้างเดียวกันร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ตาแดง น้ำตาไหล
  • ตามัว มองเห็นลดลง หรือเห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ

            ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเพียงข้างเดียว แต่ตาอีกข้างก็มีความเสี่ยงเป็นต้อหินเฉียบพลันได้ ดังนั้นหากมีอาการข้างต้นควรรีบพบแพทย์

2. ต้อหินเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวลงทีละน้อยๆ ซึ่งในระยะแรกจะไม่พบอาการผิดปกติหรือมีอาการเตือน จนสูญเสียการมองเห็นใช้เวลาประมาณ 5 - 10 ปี ผู้ป่วยมักจะเป็นต้อหินทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน บางรายอาจรู้สึกตามัวลงเรื่อยๆจนต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย เดินชนสิ่งของเพราะความกว้างในการมองเห็นแคบลง หากได้รับการตรวจหรือวินิจฉัยล่าช้าหรือรักษาไม่สม่ำเสมอจะทำให้ตาบอดได้ แต่หากรับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกที่ตรวจพบก็จะช่วยชะลอการทำลายของเซลล์ประสาทตา ไม่ทำให้การมองเห็นแย่ลงกว่าเดิม แต่ต้องยอมรับว่ารักษาไม่สามารถทำให้การมองเห็นกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้

การตรวจวินิจฉัยโรคต้อหินเบื้องต้น การตรวจวัดความดันลูกตา หากพบค่าความดันสูงกว่า 20 ขึ้นไปควรปรึกษาจักษุแพทย์

การป้องกันการเกิดโรคต้อหิน ผู้ที่มีความเสี่ยงควรรับการตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงระมัดระวังการใช้ยาหยอดตา ไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง โดยไม่ได้อยู่ในความดูแลของจักษุแพทย์