ไข้เลือดออกใกล้ตัวกว่าที่คิด


ไข้เลือดออกใกล้ตัวกว่าที่คิด
            โรคระบาดร้ายแรงประจำถิ่นของประเทศไทย มียุงลายเป็นพาหะของเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus: DENV) มีการระบาดตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน ซึ่งมีการระบาดหนักในทุก 2-5 ปี ในปี 2566 นี้ เป็นปีที่มีการระบาดหนัก จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกรวมแล้ว 73,979 ราย เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 76 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วย (ปี 2566) มากกว่าปีที่แล้ว (ปี 2565) ณ ช่วงเวลาเดียวกัน 3.3 เท่า

            โรคไข้เลือดออกเสี่ยงเป็นได้ทุกวัยไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้ที่ร่างกายแข็งแรงหรือมีโรคประจำตัว กลุ่มอายุที่ป่วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุดอันดับ 1 อยู่ที่ช่วงอายุ 5 - 14 ปี รองลงมา 15 -24 ปี โดยพบว่าในช่วงวัยทำงาน 25-34 ปีแนวโน้มป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นและมีอัตราป่วยตายมากที่สุด

โรคไข้เลือดออก ,  อัตราป่วยและเสียชีวิตสะสมจากไข้เลือดออก

ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีอาการอย่างไร
            ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, 2, 3 และ 4 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในตระกูล ฟลาวิไวรัส (Flavivirus) รวมถึงเชื้อไวรัสไข้เหลือง เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ และเชื้อไวรัสไข้ซิกา โดยเมื่อติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใดแล้วร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน ดังนั้น เมื่อป่วยไข้เลือดออกแล้ว จึงสามารถป่วยซ้ำจากการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้อีก ซึ่งสายพันธุ์ที่พบมากในประเทศไทย คือสายพันธุ์ที่ 1 และ 2 การติดเชื้อซ้ำในครั้งถัดไปเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงขึ้น โดยสายพันธุ์ที่ 2 มักเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงของโรคสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

            โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่รักษาตามอาการ ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงออกภายใน 3 - 5 วัน โดยหลังจากแสดงอาการได้ 3 วัน ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มมีภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือตกเลือด ไปจนถึงภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลว ทำให้ระดับเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำลง ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้

ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีอาการอย่างไร
  • ผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อยจะไม่แสดงอาการใดๆ
  • ผู้ป่วยบางคนมีเพียงอาการไข้ ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อเท่านั้น เรียกว่า “ไข้เดงกี”
  • กรณีที่มีการรั่วของพลาสม่าหรือน้ำเหลืองออกจากหลอดเลือดของผู้ป่วย ทำให้ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น มีน้ำในช่องปอดและช่องท้องจะเรียกว่า “ ไข้เลือดออก”
  • ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะพบภาวะเลือดออกได้บ่อยกว่าผู้ป่วยไข้เดงกี

การวินิจฉัยโรค

อาการโรคไข้เลือดออก แบ่งเป็น 3 ระยะคือ

ระยะไข้ มีไข้สูงลอย (ไข้ตั้งแต่ 38.5 °C ขึ้นไป) หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เด็กโตและผู้ใหญ่มักมีไข้นานกว่าเด็กเล็ก และมักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออย่างมาก

  • ระยะเวลาของไข้มักเป็นอยู่นาน 3 - 7 วัน
  • อาการผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะชัดเจนและง่ายต่อการวินิจฉัยโรคมากขึ้นเมื่อมีอาการเข้าวันที่ 3

ระยะที่ 2 หรือระยะวิกฤติ ระยะนี้อาการไข้จะลดลง

  • เป็นระยะที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยจะเกิดอาการรุนแรงของโรคหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ระยะนี้กินเวลา 12 - 72 ชั่วโมง
  • มีภาวะเลือดออกตามเยื่อบุภายในร่างกาย เช่น เยื่อบุจมูก เลือดออกตามผิวหนัง เยื่อบุกระเพาะอาหาร
  • ระยะนี้ถ้ามีการรั่วของพลาสมา ออกนอกหลอดเลือดดำทำให้ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น และอาจเกิดภาวะช็อกได้
  • ภาวะช็อกอาจเกิดจากการที่เลือดออกในอวัยวะสำคัญ เช่น กระเพาะอาหาร, ประจำเดือนมามาก
  • ภาวะช็อกอาจทำให้เกิดภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะไตและตับ ทำให้เสียชีวิตได้
  • ภาวะเลือดออกในผู้ป่วยไข้เลือดออก เกิดจากเกล็ดเลือดมีจำนวนลดลงหรือมีหน้าที่ผิดปกติไป เส้นเลือดมีความเปราะบาง หรือเกิดจากความผิดปกติของระบบแข็งตัวของเลือด

ระยะพักฟื้น
            อาการโดยทั่วไปดีขึ้น ทานได้มากขึ้น มีปัสสาวะมากขึ้น มีผื่นแดงตามขาและลำตัว ผื่นระยะพักฟื้น เป็นวงสีขาวบนพื้นผิวหนังสีแดง พบบ่อยที่ขาทั้งสองข้าง มักมีอาการคัน จำนวนเกล็ดเลือด จะเพิ่มขึ้นและกลับสู่สภาพปกติภายใน 3 – 5 วัน

การตรวจยืนยันไข้เลือดออก            

1. การตรวจนับเม็ดเลือดควรทำในวันที่ 3 ของโรคเป็นต้นไป จึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง (เม็ดเลือดขาวลดลง, เกล็ดเลือดลดลง, ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้นถ้ามีการรั่วของพลาสมา)

2. ตรวจหาแอนติเจน หรือโปรตีนจากเชื้อไวรัสเดงกี โดยการตรวจ NSI-แอนติเจน จะมีผลบวกตั้งแต่วันแรกๆ ของไข้ มีความไวและความจำเพาะสูง


การรักษา
            ผู้ป่วยที่มีไข้ในระยะแรกๆ จะยังไม่มีภาวะใกล้ช็อก การดูแลรักษาเป็นแบบรักษาตามอาการและประคับประคอง มีการปฏิบัติ ดังนี้
  • ให้ยาลดไข้พาราเซตามอลรับประทาน อาจให้ซ้ำได้ทุก 4 ชม. ต้องระมัดระวังอย่าให้ไข้สูง ยาพาราเซตามอลใช้ได้ทั้งลดไข้และบรรเทาอาการปวดศีรษะและปวดเมื่อย ตามตัว **ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน และควรเลี่ยงการใช้ยาที่อาจก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เช่น พวก NSAID ต่าง ๆ
  • ควรให้ผู้ป่วยได้รับน้ำอย่างเพียงพอด้วยการดื่มน้ำหรือ ORS (ถ้าเป็นเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบให้ ORS 1 ส่วน ดื่มนมหรือน้้ำตามอีก 1 -2 ส่วน) ในระยะที่อาเจียนควรให้ดื่มครั้งละน้อย ๆ และดื่มบ่อยครั้ง ช่วง 2 วันแรกของไข้ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เพราะยังไม่เข้าสู่ระยะวิกฤติ แต่ต้องติดตามอาการ และตรวจนับเม็ดเลือด
  • อาการรุนแรงมักเกิดในวันท้ายๆ ของระยะไข้ ถ้ามีความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้นต้องได้รับการรักษาด้วยสารน้ำทางหลอดเลือดในปริมาณเท่าที่จำเป็น
  • ถ้ามีเลือดออกมาก อาจต้องให้เลือด
  • แพทย์มักหลีกเลี่ยงการให้เกล็ดเลือด เนื่องจากเกล็ดเลือดที่ให้จะถูกทำลายอย่างรวดเร็ว พิจารณาให้เกล็ดเลือดในกรณีที่จำเป็นจริงๆ คือ มีเลือดออกอย่างรุนแรงในอวัยวะสำคัญ
  • ตลอดระยะเวลา 24 – 72 ชั่วโมง ของระยะวิกฤติแพทย์จะติดตามความดันโลหิต, ชีพจร, ความเข้มข้นของเลือดและจำนวนปัสสาวะของผู้ป่วยที่อาการหนักเป็นระยะ

การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก
            หลักการป้องกันโรคนี้ที่สำคัญ คือ อย่าให้ตนเองถูกยุงกัด ทำลายยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้านและในชุมชนของเราเอง เพื่อป้องกันยุงมากัดผู้ป่วยและไปแพร่เชื้อต่อให้รายอื่น

1. หลีกเลี่ยงการถูกยุงลายกัด นอนในห้องที่ติดมุ้งลวด, ใช้มุ้งกันยุง, ใช้ยาทากันยุง

2. การปราบยุงลาย ฉีดยาฆ่ายุง, หน่วยงานราชการนิยมใช้วิธีพ่นสารเคมี

3. การกำจัดลูกน้ำยุงลาย สำรวจภาชนะในบ้านที่มีน้ำขัง กระป๋อง, กะลา, จานรองกระถางต้นไม้, ตุ่มโอ่งที่ไม่มีฝาปิด เปลี่ยนน้ำในภาชนะบ่อยๆ คว่ำภาชนะและปิดฝาตุ่ม อาจใส่เกลือผสมน้ำส้มสายชูหรือทรายอะเบทในภาชนะ หรือเลี้ยงปลาหางนกยูง

4. หมั่นสังเกตตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดใหม่ (Live Attenuated dengue2- dengue vaccine) ที่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงขึ้นได้


วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดใหม่ ( Live-attenuated recombinant dengue2-dengue vaccine)

            ผลิตที่ประเทศเยอรมนี เป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเดงกีชนิด 4 สายพันธุ์ (ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ มีแกนหลักเป็นไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2) ฉีดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 4 - 60 ปี สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน โดยไม่ต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด ฉีดเพียง 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน (0 และ 3) สำหรับผู้ที่เพิ่งติดเชื้อไข้เดงกีหรือเพิ่งหายจากการติดเชื้อ ควรเว้นระยะห่าง 6 เดือนก่อนฉีด มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจากทุกสายพันธุ์ 80.2 % ลดการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 90.4% หลังฉีดครบ 2 เข็ม โดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยได้แนะนำการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกชนิดใหม่ (Live-attenuated recombinant dengue2-dengue vaccine) ไว้ในตารางการให้วัคซีนในเด็กไทยใน ปี พ.ศ. 2566

            วัคซีนโรคไข้เลือดออกชนิดใหม่มีความปลอดภัย หลังฉีดวัคซีนอาจมีอาการปวดแขนตรงบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นอาการทั่วไปที่พบได้หลังฉีดวัคซีนและส่วนมากมักหายเองได้ ภายใน 1-3 วัน


วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดใหม่ , ประสิทธิภาพวัคซีนไข้เลือดออกชนิดใหม่

คำแนะนำในการรับวัคซีนไข้เลือดออกชนิดใหม่ในกรณีอื่นๆ ได้แก่

1. หากมีโรคประจำตัวอยู่ในระยะกำเริบหรือคุมอาการไม่ได้ ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปจนกว่าอาการจะเป็นปกติ

2. สตรีที่มีการวางแผนตั้งครรภ์ ควรคุมกำเนิดต่อไปอีก 1 เดือนหลังจากรับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว

3. ผู้ที่เพิ่งหายป่วยจากไข้เลือดออก สามารถฉีดวัคซีนหลังติดเชื้อไปแล้ว 6 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อครั้งต่อไปที่มักมีอาการรุนแรงขึ้น

4. หากป่วยไม่สบาย ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน


ข้อห้ามของการใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

1. มีภาวะภูมิไวเกินต่อตัวยาสำคัญหรือสารเพิ่มปริมาณยาชนิดใดๆ หรือมีภาวะภูมิไวเกินต่อวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่ฉีดไปก่อนหน้านี้

2. ผู้ที่มีภาวะการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันผ่านเซลล์บกพร่องมาแต่กำเนิดหรือในภายหลัง รวมถึงผู้ที่ได้รับการบำบัดรักษาด้วยการกดภูมิคุ้มกัน เช่น ได้รับเคมีบำบัด หรือ คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกายที่ขนาดยาสูง ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ ก่อนการได้รับวัคซีน

3. ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีแบบแสดงอาการ หรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีแบบไม่แสดงอาการที่มีหลักฐานแสดงถึงการทำงานของภูมิคุ้มกันบกพร่อง

4. หญิงตั้งครรภ์ หากรับวัคซีนแล้วแต่ทราบว่ามีการตั้งครรภ์ภายหลัง ยังไม่มีข้อมูลผลกระทบที่เป็นอันตรายทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่แนะนำให้ตรวจติดตามและดูแลโดยสูตินรีแพทย์อย่างต่อเนื่อง

5. หญิงให้นมบุตร เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลความปลอดภัยยังไม่เพียงพอ จึงควรเลื่อนรับวัคซีนออกไปก่อน


           โรคไข้เลือดออกยังคงเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี และทุกๆช่วงวัยมีความเสี่ยงโดยเฉพาะการติดเชื้อไข้เลือดออกครั้งที่ 2 ในผู้ใหญ่จะมีอาการรุนแรงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ การป้องกันยุงกัดและการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้านเป็นวิธีการที่สำคัญที่สุดในการควบคุมโรค หากพบว่าตนเองป่วยมีไข้สูง การเจ็บป่วยครั้งนี้รุนแรงไม่เหมือนกับที่เคยเป็น รับประทานยาพาราเซตามอลแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรสงสัยว่า ป่วยเป็นไข้เลือดออกหรือมีอาการเตือนดังกล่าว ให้รีบพบแพทย์


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

           เด็ก อายุ 4 - 14 ปี นัดหมายเข้ารับบริการได้ที่คลินิกสุขภาพเด็กดี (Well Baby Clinic ศูนย์กุมารเวช 24 ชั่วโมง ชั้น 2 อาคารพรีเมียม เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00 - 22.00 น. โทร. 0-2117-4999 , 0-2431-0054 ต่อ 2200)

           ผู้ใหญ่ อายุ 15 ปีขึ้นไป นัดหมายเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์อายุรกรรมเที่ยงคืน ชั้น 1 อาคารพรีเมียม เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00 - 00.00 น. โทร. 0-2117-4999 , 0-2431-0054 ต่อ 2138, 2120