โรคปอดบวมในเด็ก


            อย่าชะล่าใจ...หากลูกมีอาการไข้สูงเกิน 2 วัน ไอรุนแรงและมีอาการหอบเหนื่อย เพราะนั่นอาจเสี่ยงเป็นสัญญาณของโรคปอดบวมที่สามารถคร่าชีวิตลูก มาเรียนรู้วิธีป้องกันและสังเกตสัญญาณของโรคเพื่อการรักษาที่ทันท่วงที

โรคปอดบวม (Pneumonia) หมายถึง ภาวะที่เกิดการติดเชื้อในปอดโดยเฉพาะในถุงลม โดยถุงลมอาจจะเต็มไปด้วยหนอง

อาการโรคปอดบวม อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการติดเชื้อที่ส่วนไหนของปอด ชนิดของเชื้อและภูมิต้านทาน ของผู้ป่วย

  • มีไข้ หรือตัวอุ่นๆ
  • ไม่ยอมกินนม และเบื่ออาหาร
  • รู้สึกไม่สบายตัว ซึม
  • อาการเหมือนคนเป็นหวัด เช่น เจ็บคอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ
  • ไอถี่ๆ
  • หายใจเร็ว มีเสียงหวีด
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจลำบาก
  • มีเสมหะปนเลือด หรือมีสีเขียวหรือสีสนิม

  • สาเหตุ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อไมโครพลาสมา แต่เชื้อแบคทีเรียที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae หรือเชื้อนิวโมคอคคัส

    การติดต่อของโรค
  • การหายใจเอาเชื้อโรคปอดบวมที่กระจายอยู่ในอากาศ รวมถึงเชื้อของผู้ป่วยจากการไอ จาม
  • การติดเชื้อไวรัสในในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด หรือไข้หวัด
  • พบภาวะแทรกซ้อนในโรคอื่นๆ เช่น โรคอีสุกอีใส หรือ โรคหัด
  • สูดสำลักน้ำย่อยและอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าไปในปอด ซึ่งมักเกิดเมื่อมีอาการชักหรือโรคเกี่ยวข้องกับสมอง


  • ***จมูกของคนเรา แม้ในช่วงที่มีสุขภาพแข็งแรงก็จะมีเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคปอดบวมอาศัยอยู่ได้ เมื่อเชื้อโรคเหล่านี้แพร่กระจายไปยังปอด ทำให้เกิดโรคปอดบวมได้ ซึ่งจะมีโอกาสเกิดมากขึ้นระหว่างหรือหลังมีอาการหวัด หรือโรคเรื้อรัง

    กลุ่มเสี่ยง
  • ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาทิ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ได้รับเคมี สเตียรอยด์ในระยะยาว รวมถึงผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด
  • อายุ โรคปอดบวมอาจรุนแรงในทารก เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากคนกลุ่มนี้ยังมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง หรือมีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว
  • โรงพยาบาล ผู้ที่อยู่ในห้องไอซียู โดยเฉพาะคนไข้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ


  • อาการแทรกซ้อนที่สำคัญ
  • หายใจลำบาก ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้หายใจเอาออกซิเจนเข้าไปไม่เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย
  • โรคฝีในปอด เชื้อแบคทีเรียสามารถสร้างพิษขึ้นมาทำลายปอด ทำให้มักเกิดฝีในปอดตามมา
  • น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอดลามออกมาถึงเยื่อหุ้มปอด ถ้ามีไม่มากก็อาจหายเองได้ ในรายที่มีจำนวนมากจนทำให้เกิดอาการหอบจะต้องทำการรักษาโดยการเจาะดูดเอาน้ำออก
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ


  • เมื่อไหร่ควรพาลูกพบคุณหมอ
    หากลูกมีอาการ ไข้สูงเกิน 2 วัน ไอ เจ็บหน้าอก และเหนื่อยง่าย ควรรีบพบแพทย์ กรณีเด็กต่ำกว่า 5 ปี หากป่วย เป็นไข้หวัด พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ให้เด็กดื่มน้ำ หรือนมบ่อยๆ นอนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำอุ่นและให้ทานยาลดไข้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน หรือเด็กมีอาการซึมลง ไม่กินน้ำกินนม หรือมีไข้สูง ไอ หายใจผิดปกติ เช่น หายใจหอบเร็ว หรือหายใจมีเสียงฮี้ดหรือเสียงหวีด หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคปอดบวม ให้รีบนำเด็กไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว

    การวินิจฉัยโรคปอดบวม
    ปอดบวมวินิจฉัยได้โดย การซักประวัติ ตรวจร่างกาย และฟังเสียงหายใจ ถ่ายภาพรังสีทรวงอก (เอกซเรย์ปอด) ตรวจเลือดซีบีซี การตรวจและเพาะเชื้อจากเสมหะ การเพาะเชื้อจากเลือด ตรวจการเต้นของชีพจร วัดระดับออกซิเจนในเลือด

    การรักษาโรคปอดบวม
    ติดตามดูแลระดับสัญญาณชีพ ออกซิเจนในเลือดให้อยู่ในภาวะปกติ ในกรณีที่สงสัยว่าติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะตามกำหนดเวลาเพื่อฆ่าเชื้อรวมทั้งยาอื่นๆ ตามอาการ ได้แก่
    • ยาละลายเสมหะ ช่วยให้ขับของเหลวในปอด
    • ยาลดไข้ acetaminophen โดยหลีกเลี่ยงการให้ยาแอสไพรินในเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการ เรย์ Reye’s syndrome ได้
    • พ่นยาขยายหลอดลมในผู้ที่มีอาการหลอดลมตีบ เด็กควรรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อมีอาการต่อไปนี้
      • อายุน้อยกว่า 2 เดือน
      • หายใจลำบาก
      • มีอาการขาดน้ำ
      • ง่วงนอนผิดปกติ
      • ออกซิเจนในเลือดต่ำ
      • อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ


    การป้องกันโรคปอดบวม
  • ล้างมือบ่อยๆ อย่างถูกวิธี
  • หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ จานชาม และสิ่งของร่วมกับผู้อื่น
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และเชื้อนิวโมคอคคัส
  • เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของลูกให้แข็งแรง โดยการนอนหลับอย่างเพียงพอ ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารครบ 5 หมู่