โรคมือ เท้า ปาก ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

        โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) เป็นโรคไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่พบได้ตลอดปี แต่จะเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าฝน พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็กโรงเรียนอนุบาล


ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค

        โรคมือ เท้า ปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคและพบได้บ่อย คือ คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจเกิดอาการทางสมอง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้ สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้าง


ช่องทางการแพร่เชื่อและการติดต่อ

        โรคมือ เท้า ปากมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ สามารถติดต่อกันได้ โดยที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้ผ่านระบบทางเดินอาหาร การหายใจจากการไอ จาม และติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย ตลอดจนการติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค


อาการของโรคเป็นอย่างไร ?

        หากติดโรคมือ เท้า ปาก จะมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เด็กอาจไม่ยอมดื่มนมหรือรับประทานอาหารเนื่องจากมีแผลในปาก ตุ่มมีลักษณะพองใส หรือเป็นตุ่มแดง ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลตื้นๆ พบได้บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือและฝ่าเท้า อาจพบที่ก้นด้วย มักหายภายใน 7-10 วัน


โรคมือ เท้า ปาก ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

        จุดหรือผื่นแดง จะกลายเป็นตุ่มพองใสหรือตุ่มแดงขึ้นบริเวณรอบๆ มือ เท้า ปาก หรือที่ก้น และแตกออกเป็นแผลตื้นๆ


อาการแทรกซ้อนที่ต้องเฝ้าระวัง

        • ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

        • ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจวายและน้ำท่วมปอด

        หากเด็กมีไข้สูงนานเกิน 2 วัน อาเจียนบ่อยๆ ซึม มือ – ตากระตุก เดินเซ หายใจหอบเหนื่อย ควรรีบพบแพทย์


การรักษา

        • ยังไม่มียารักษาเฉพาะ เน้นการรักษาตามอาการ เช่น หากมีไข้ให้เช็ดตัวร่วมกับการใช้ยาลดไข้ หากมีแผลในปากให้ทายาบริเวณแผลในช่องปากเพื่อบรรเทาอาการเจ็บ เป็นต้น

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค

        • หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และระมัดระวังการไอจามรดกัน

        • ระมัดระวังความสะอาดของน้ำ อาหารและสิ่งของที่เป็นของเล่นของใช้ที่เด็กๆใช้ร่วมกัน

        • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย

        • ดูแลรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

        • หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจํานวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด โรงภาพยนตร์หรือโรงพยาบาล เพราะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น


การรับวัคซีนป้องกัน

        ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ที่เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส71 (อีวี71) เป็นวัคซีนเชื้อตาย ฉีดจำนวน 2 เข็ม เว้นระยะห่างกัน 1 เดือนเหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 5ปี ในเด็กที่เคยป่วยโรคมือ เท้า ปากแล้ว สามารถรับฉีดวัคซีนได้ หลังหายป่วยไปแล้ว 1 เดือน เนื่องจากโรคมือ เท้า ปาก มีหลายสายพันธุ์ การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการติดเชื้ออีวี 71 ได้

        วัคซีนมีความปลอดภัยสูง จากการศึกษา ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรงภายหลังการฉีด ซึ่งอาการที่พบทั่วไป เช่น มีไข้ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น


การดูแลเมื่อลูกป่วย

        • หยุดเรียน จนกว่าจะหายอย่างน้อย 5 -7 วัน รวมถึงควรปิดโรงเรียนเพื่อทำความสะอาด หากพบเด็กติดเชื้อมือ เท้า ปากพร้อมกันหลายคน

        • งดพาไปในแหล่งชุมชนหรือพื้นที่แออัด และแยกเด็กป่วยไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น

        • ผู้ดูแลควรหมั่นล้างมือ ทำความสะอาดของเล่นและสภาพแวดล้อมทุกวัน เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังเด็กคนอื่น การใช้แอลกอฮอล์เจลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคมือ เท้า ปากได้ จำเป็นต้องทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปจึงจะสามารถกำจัดเชื้อได้

        • ระมัดระวังความสะอาดของน้ำ อาหารและสิ่งของที่เด็กอาจเอาเข้าปาก


บทสรุป

        โรคมือ เท้า ปากมีโอกาสแพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปี ผู้ที่ใกล้ชิดกับเด็กเล็ก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าติดตามสถานการณ์ และหมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยของเด็กเล็ก โดยมีการตรวจสุขภาพ วัดไข้ และตรวจหาตุ่มน้ำใสในช่องปาก ฝ่ามือ และฝ่าเท้า ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อจะได้ให้การดูแลรักษาอย่างทันท่วงที


นัดหมายปรึกษากุมารแพทย์เพื่อเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปากได้ที่ ศูนย์กุมารแพทย์ ชั้น 2 อาคารพรีเมียม โทร 0-2117-4999 ต่อ 2200