ค้นหาภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตันด้วยเครื่อง ABI


ทำความรู้จัก โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน

       โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน  หรือ Peripheral arterial disease เรียกย่อ ๆ ว่า PAD เป็นภัยเงียบที่ร้ายแรง เพราะการดำเนินโรคมักจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวหลอดเลือดแดงก็ตีบไปมากแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการปวดขา มีแผลหายยากเพราะขาดเลือดไปเลี้ยง บางรายเป็นแบบเฉียบพลันทำให้มีอาการปวดขามาก หากรักษาล่าช้ามี

       โอกาสถูกตัดขาได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีความเสี่ยงเกิดหลอดเลือดแดงตีบในอวัยวะอื่นๆได้ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติ สาเหตุของโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน ส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีไขมันเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้มีการอักเสบกลายเป็นพังผืด สะสมหนาตัวขึ้น มีการปริแตกเป็นแผลและมีลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนา แข็งตัว ขาดความยืดหยุ่นและตีบแคบลง เลือดจึงไปเลี้ยงที่ขาได้ไม่เพียงพอ


อาการโรคนี้เป็นอย่างไร ?

       มีอาการ 2 แบบ คือ แบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น ปวดขา ปวดน่องเวลาเดินหรือออกกำลังกาย ถ้าโรคเป็นรุนแรงขึ้นจะปวดขามากแม้อยู่เฉย ๆ เนื่องจากเลือดมาเลี้ยงไม่ดี ทำให้ขนร่วง กล้ามเนื้อลีบ เท้าเย็น แผลที่เท้าหายช้า มักเป็นแผลเนื้อดำจากการขาดเลือด เนื่องจากถ้าปล่อยจนมีอาการ โรคมักเป็นมากแล้ว การรักษาจะยุ่งยาก เช่น การสวนเส้นเลือดเพื่อขยายหลอดเลือดแดงส่วนที่ตีบ หรืออาจต้องตัดเท้า ดังนั้น การตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงจึงสำคัญมาก เพื่อการป้องกัน และรักษาตั้งแต่ต้น


ใครบ้าง ? เสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน

       1. ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน ได้แก่

          • คลำชีพจรที่ข้อเท้าหรือที่เท้าไม่ได้

          • มีอาการปวดขาเวลาเดิน

          • เป็นแผลเรื้อรังที่เท้าหรือที่ขาซึ่งรักษาไม่หาย

       2. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ

       3. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบแต่ยังไม่มีอาการแสดงของโรค ได้แก่

          • อายุ 65 ปีขึ้นไป

          • มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า

          • มีประวัติโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน

          • สูบบุหรี่มากกว่า 10 ปี

          • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ


รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้

       เบื้องต้นการตรวจจะซักประวัติหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ และตรวจร่างกาย ดูลักษณะของเท้า คลำชีพจรเท้า และตรวจด้วยเครื่อง Ankle Brachial index หรือ ABI เป็นการตรวจคัดกรองและช่วยวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน การตรวจคล้ายกับการวัดความดันโลหิต ใช้ระยะเวลาการตรวจไม่นาน


เครื่องตรวจสมรรถภาพหลอดเลือดแดง ABI, Ankle-brachial index

ประโยชน์จากการตรวจ

       • ช่วยวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน

       • ประเมินระดับความรุนแรงการตีบของหลอดเลือด

       • ประเมินแนวโน้มการเกิดโรคของระบบหลอดเลือดและระบบหัวใจในอนาคต

       • ประเมินความยืดหยุ่นของหลอดเลือดส่วนปลาย

       • ประเมินอายุของหลอดเลือด

       • ใช้ในการติดตามและประเมินผลภายหลังการรักษา


       นอกจากการตรวจด้วยเครื่อง Ankle Brachial index หรือ ABI แล้ว ยังมีการตรวจอื่นๆเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคได้แก่ การทำอัลตร้าซาวด์ การตรวจภาพถ่ายทางรังสี เช่น CT angiogram , MRI ร่วมกับการฉีดสี สามารถบอกลักษณะหลอดเลือดตีบตันได้ดี โดยจะทำการตรวจเพื่อพิจารณากรณีมีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษา


การรักษาหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตันมีอะไรบ้าง ?

       1. กลุ่มไม่มีอาการ : ควรตรวจหาความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง และควรเข้ารับการรักษาเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรค (Risk factor management) เช่น การตรวจและควบคุมระดับความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันในเลือด รวมทั้งการรับประทานยาต้านเกร็ดเลือด ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งช่วยชะลออาการของโรคได้ รวมถึงแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดสูบบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดแดงแข็ง ขาดความยืดหยุ่น


       2. กลุ่มอาการปวดขา : ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรกระตุ้นการเดินออกกำลังกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงต่อการขาดเลือด ช่วยให้เดินได้ไกลขึ้น ชะลอการดำเนินของโรค โดยการเดินแนะนำให้เดินออกกำลังอย่างน้อย 45 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน โดยทุกครั้ง แนะนำให้เดินให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ จนมีอาการปวดขาแล้วพัก หลังจากนั้นให้เริ่มต้นเดินใหม่อีกครั้ง ทำสลับไปเรื่อยๆ จนครบระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงมีการรักษาด้วยยา เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาลดไขมันและยาขยายเส้นเลือดที่ช่วยลดอาการปวด


       3. กลุ่มอาการขาดเลือดขั้นวิกฤต : ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องรักษาภาวะการตีบตันของหลอดเลือด หากทิ้งไว้มีโอกาสสูญเสียอวัยวะได้ 30-40% มีทางเลือกให้ทำการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหรือบายพาส (Surgical Bypass) หรือใช้วิธีขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (Balloon Angioplasty) ขึ้นอยู่กับลักษณะ และความรุนแรงของการตีบตันของหลอดเลือด


       โดยสรุป ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน ควรได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อรับการดูแลรักษาที่เหมาะสม ป้องกันการเกิดแผลและการสูญเสียอวัยวะในอนาคต


                             นัดหมายปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ โทร. 0-2117-4999 ต่อ 2330