โรคภูมิแพ้ ป้องกันได้ตั้งแต่แรกเกิด


            ปัจจุบันโรคภูมิแพ้มีอุบัติการณ์สูงขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย โดยในปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีคนไทยมากกว่า 18 ล้านคน เป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งในจำนวนนี้ กว่า 10 ล้านคน เป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก โดย 20% พบในผู้ใหญ่ และ 40% พบในเด็ก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ไซนัสอักเสบ, นอนกรน, คุณภาพการนอนลดลง เป็นต้น สาเหตุของโรคภูมิแพ้เกิดจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม

จะทราบได้อย่างไรว่าทารกคนไหนเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้
            วิธีที่ง่ายที่สุดคือดูว่ามีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวหรือไม่ ถ้า “บิดา” หรือ “มารดา” คนใดคนหนึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50 แต่ถ้าบิดาและมารดาเป็นภูมิแพ้ทั้ง 2 คน บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากถึงร้อยละ 50-70 อย่างไรก็ตามแม้ว่าบิดาและมารดาจะไม่เป็นโรคภูมิแพ้ ทารกก็มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้ร้อยละ 10
            ปัจจุบันมีแบบทดสอบในการประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ในทารกโดยการคำนวณเป็นคะแนนความเสี่ยงจากประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวคือบิดา มารดา และพี่ ซึ่งถ้าคำนวณมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ถือว่ามีความเสี่ยงมาก

แล้วจะป้องกันทารกที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ได้อย่างไร?
            1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่จะเข้าสู่ร่างกายทาง “อาหาร” ช่วงตั้งครรภ์ มารดาควรบริโภคนมตามที่เคยทานเหมือนก่อนการตั้งครรภ์ ไม่ดื่มนมแบบมากเกินพอดีเพราะจะทำให้ทารกในครรภ์ มีโอกาสสัมผัสสารภูมิแพ้เพิ่มขึ้น กรณีที่มารดาไม่สามารถให้นมได้ หรือสงสัยแพ้นมวัวให้ปรึกษากุมารแพทย์
            ไม่แนะนำให้ทารกดื่มนมถั่วเหลือง, นมแพะ, นมแกะ เนื่องจากมีโอกาสทำให้เกิดโรคภูมิแพ้เช่นเดียวกับนมวัว
            เริ่มให้อาหารเสริมแก่ทารกหลัง 6 เดือน โดยให้ทารกรับประทานอาหารเสริมทีละชนิด และสังเกตว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะเริ่มให้อาหารชนิดใหม่ และควรเริ่มต้นจากอาหารเสริมที่ทำให้เกิดอาการแพ้น้อย ได้แก่ ข้าวบด, กล้วยน้ำว้า, ฟักทอง, น้ำต้มหมู, น้ำต้มไก่, ผักใบเขียว

            2. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกายทาง “ระบบทางเดินหายใจ” โดย
            • งดใช้พรมปูพื้น
            • ใช้เครื่องเรือนให้น้อยที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน
            • ไม่นำตุ๊กตาที่มีขนไว้ในห้องนอน
            • ไม่ใช้ที่นอนหรือหมอนที่บุด้วยนุ่นหรือขนสัตว์
            • ควรคลุมที่นอนและหมอนด้วยผ้าที่ทอพิเศษเพื่อป้องกันไรฝุ่น
            • ซักผ้าม่าน, ผ้าปูที่นอน, ปลอกหมอนทุก 1-2 สัปดาห์ โดยใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 30 นาที
            • ดูดฝุ่น เช็ดถูทำความสะอาดพื้นและเครื่องเรือนเป็นประจำ
            • งดเลี้ยงสัตว์ที่มีขนภายในบ้าน
            • พยายามอย่าทำให้เกิดความชื้นในบ้านเพื่อป้องกันเชื้อรา ไม่ควรนำต้นไม้, ดอกไม้สด, ดอกไม้แห้งไว้ในบ้าน
            • เก็บเศษอาหารให้มิดชิดเพื่อป้องกันแมลงสาบ
            • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่
            • หลีกเลี่ยงสารก่อการระคายเคือง เช่น ควันจากท่อไอเสีย
            • อาจใช้เครื่องฟอกอากาศที่มี HEPA FILTER
            • ป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หลีกเลี่ยงการพาทารกไปอยู่ในที่แออัด, ฉีดวัคซีนป้องกันโรค