การดูแลสุขภาพฟันของเด็ก


           สุขภาพปากและฟันมีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะปัญหาที่อาจเกิดขึ้นมีมากมาย และมีผลกระทบกระเทือนต่อภาวะโภชนาการของเด็ก ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถป้องกันได้เกือบทั้งสิ้น การดูแลสุขภาพฟันในเด็กจึงอาจแบ่งเป็นช่วงเวลาได้ดังนี้

เมื่อเป็นทารก

ภายหลังให้นมต้องหัดให้เด็กดูดน้ำตาม มิฉะนั้นฟันจะผุทั้งปากได้ง่าย การทำความสะอาดเมื่อฟันยิ่งขึ้นเพียง 2-3 ซี่ ควรใช้ผ้าหรือสำลีชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดปากอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และเมื่อฟันขึ้นหลายซี่ นอกจากใช้ผ้าเช็ดแล้วควรหาแปรงสีฟันที่มีขนอ่อนมากๆ แปรงฟันให้เด็กด้วย


เมื่อฟันน้ำนมขึ้นครบแล้วหรืออายุ 2 ปีขึ้นไปถึง 6 ปี

ควรจัดให้เด็กได้กินอาหารทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้สด เพราะนอกจากจะได้คุณค่าต่อร่างกาย ยังทำให้ฟันทำหน้าที่บดเคี้ยวเต็มที่ กระตุ้นให้ขากรรไกรและใบหน้าเจริญสมบูรณ์ ควรพยายามให้เด็กดื่มนมสดเป็นประจำ เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกาย เสริมสร้างกระดูกและฟันให้สมบูรณ์ ต้องดูแลการทำความสะอาดฟันเพราะเด็กวัยนี้ยังไม่สามารถทำได้เองอย่างถูกต้อง และประการสุดท้ายควรพาไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่ยังไม่มีอาการใดๆ เพราะจะช่วยสร้างความคุ้นเคย และเด็กจะได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากด้วย


เมื่ออายุ 7 ปีขึ้นไป

เด็กจะเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ เด็กในวัยนี้จะมีฟันผสมคือ มีทั้งน้ำนม และฟันแท้ จนกระทั่งอายุประมาณ 12-13 ปีขึ้นไป จึงจะเหลือเฉพาะฟันแท้ พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของครูและทันตแพทย์เพียงฝ่ายเดียว


เพื่อฟันสวยๆ ของลูก คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลฟันลูกดังต่อไปนี้
  • ให้เด็กฝึกหัดแปรงฟันอย่างถูกวิธี
  • หมั่นตรวจฟันลูกหรือหัดให้ลูกตรวจฟันด้วยตนเองทุกวันหลังแปรงฟัน และพาไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
  • รับประทานอาหารให้ครบหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้สด และนมสด จะกระตุ้นขากรรไกรให้เจริญได้สัดส่วน
  • ลดการกินท๊อฟฟี่ ขนมหวานหรืออาหารที่ทำลายฟัน เช่น น้ำอัดลม ไอศครีม